โรคเมลิออยด์ หรือ เมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีสาเหตุจาก Burkholderia(Pseudomonas ) pseudomallei ซึ่งพบได้ในคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แพะ แกะ หมู โค กระบือ โรคนี้พบได้มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียตอนเหนือ โดยเฉพาะในประเทศไทย มีผู้ป่วย 2000 -3000 รายต่อปี อุบัติการณ์ของโรคมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉลี่ย 244 ต่อ 100,000 คนต่อปี พบผู้ป่วยมากในฤดูฝน
ในประเทศไทยมีรายงานแยกเชื้อได้จากดิน และน้ำ ของทุกภาค
พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรมีโอกาสสัมผัสและรับเชื้อจากดินและน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้ออยู่มากที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเมลิออยด์ คือ ผู้ที่มีโอกาสสูงในการสัมผัสเชื้อจากดินหรือจากแหล่งน้ำหน้าผิวดินคือ เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา นอกจากนั้นคือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, ผู้ได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค (เช่นผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ เช่นการใช้ยา Cyclosporine) และผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์นานๆต่อเนื่อง (เช่นในโรคหืด) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อที่รุนแรงด้วย
ระยะฟักตัวในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันจะอยู่ระหว่าง 1-21 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 วัน ผู้ป่วยร้อยละ 90 ที่มาโรงพยาบาลมักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน (Acute infection) ผู้ป่วยร้อยละ 10 อาจมาด้วยอาการเรื้อรัง (Chronic infection) หรือจากการแสดงออกของการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการในอดีต (Latent infection) การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการนั้นระยะฟักตัวอาจนานเป็นเดือน จนถึงหลายปี (นานที่สุดที่เคยมีรายงานคือ 62 ปี) และผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีอาการเมื่อมีภูมิคุ้มกันลดลง เช่น มีอาการเบาหวาน หรือมีการติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่